ไอจิ-นาโกย่า: ของที่ระลึกที่คงเอกลักษณ์จากวัฒนธรรมดั้งเดิมสำหรับติดไม้ติดมือกลับบ้าน | คอลัมน์ | Experiences in Aichi
โดยชินคันเซ็น (รถไฟหัวกระสุน)

  1. Home /
  2. คอลัมน์ /
  3. ไอจิ-นาโกย่า: ของที่ระลึกที่คงเอกลักษณ์จากวัฒนธรรมดั้งเดิมสำหรับติดไม้ติดมือกลับบ้าน

ไอจิ-นาโกย่า: ของที่ระลึกที่คงเอกลักษณ์จากวัฒนธรรมดั้งเดิมสำหรับติดไม้ติดมือกลับบ้าน

ของที่ระลึกเป็นมากกว่าของขวัญทั่วไปสำหรับเพื่อน ครอบครัวของท่าน หรือแม้กระทั่งตัวท่านเอง ของที่ระลึกเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านบอกเล่าเรื่องราวของจุดหมายปลายทางที่ท่านเคยเยี่ยมเยือน ประสบการณ์สุดพิเศษที่ท่านเคยสัมผัส และย้อนความทรงจำขณะที่ท่านพักผ่อน ณ สถานที่นั้นกลับคืนมา ส่วนตัวฉันแล้ว ฉันชอบซื้อของที่ระลึกที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ได้เป็นเพียงของสำหรับวางไว้บนชั้นเพื่อชื่นชมเท่านั้น ฉันยังคงจำความรู้สึกตื่นเต้นของเพื่อนชาวอิตาลีเมื่อครั้งที่ฉันมอบชุดฮิตสึมาบุชิสำหรับอุ่นด้วยไมโครเวฟพร้อมรับประทานให้แก่เธอได้... สำหรับข้อดีของของที่ระลึกจากจังหวัดไอจิและนาโกย่าคือ ของที่ระลึกส่วนมากเหมาะสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง และต่อจากนี้เป็นคำแนะนำบางส่วนสำหรับของที่ระลึกคุณภาพเยี่ยมของภูมิภาคนี้ ของชิ้นเล็กๆ ที่จะทำให้ท่านกลับบ้านอย่างมีชีวิตชีวา

อุอิโระ

อุอิโระ

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากจะพูดว่า “อุอิโระ” เป็นหนึ่งในขนมที่เป็นสัญลักษณ์แห่งนาโกย่า เค้กนึ่งเหนียวหนึบหนับที่ทำจากแป้งข้าวเจ้านี้ มีประวัติยาวนานกว่า 350 ปี และมีหลากหลายรสชาติและสีสัน เช่น ชาเขียว น้ำตาลทรายแดง อะสุกิ และมันหวาน โดยส่วนตัวแล้ว ฉันชอบ “อะโอะยากิ อุอิโระ ฮิโตะคุจิ” อุอิโระรส “ซากุระ” สีชมพูน่ารักขนาดพอดีคำที่เข้ากันดีเมื่อรับประทานพร้อมชาเขียวรสเข้ม อย่างไรก็ตาม ฉันรู้สึกแปลกใจที่อุอิโระเป็นที่รู้จักในฐานะ “วากาชิ” (ขนมญี่ปุ่น) ประจำท้องถิ่นนี้

เพราะอุอิโระนับเป็นของฝากที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมากกว่าที่คนในท้องถิ่นจะรับประทาน แน่นอน มันไม่ได้หมายความว่าคนท้องถิ่นจะไม่ชอบอุอิโระ เพราะความจริงแล้ว หลายคนต่างภาคภูมิใจในขนมชนิดนี้ ทั้งนี้ ในฐานะของฝากจากเมืองเจ้าภาพที่จัดการแข่งขันมาราธอนหญิงนาโกย่า ฉันอยากแนะนำอุอิโระแก่เหล่านักกีฬาและนักปีนเขา เพราะสำหรับฉันที่เป็นนักปีนเขามือสมัครเล่นนั้น อุอิโระเป็นอาหารที่เหมาะแก่การพกไปรับประทาน เพราะเป็นขนมที่อยู่ท้อง รับประทานง่าย และให้พลังงานเป็นอย่างดี!

อุอิโระ

มิโสะ

มิโสะ

อาหารหมักดองกลับมาอยู่ในความสนใจของทั่วโลกอีกครั้ง และไอจินับว่าเป็นเมืองแห่งอาหารหมักดองเลยทีเดียว! แม้ว่ามิโสะจะเป็นวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้สำหรับวัฒนธรรมอาหารในทุกภูมิภาคของญี่ปุ่น แต่ผู้คนในจังหวัดไอจิกลับมอบความรักอย่างแรงกล้าให้กับมิโสะถั่วเหลืองหมักสีแดงอันโดดเด่นที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ยิ่งไปกว่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกล่าวถึงอาหารของไอจิโดยไม่กล่าวถึง “ฮัตโจมิโสะ” ที่มีจุดกำเนิดตั้งแต่สมัยเอโดะ

มิโสะ

เมื่อตอนที่ฉันไปเยี่ยมชมโกดังเก็บสินค้าเดิมของ “คะคุคิว” หนึ่งในผู้ผลิตฮัตโจมิโสะที่เมืองโอคาซากิ ฉันรู้สึกประหลาดใจมากที่ได้เห็นถังไม้ขนาดมหึมาที่มีหินหนักๆ วางทับอยู่ด้านบน เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตฮัตโจมิโสะส่วนมากนั้นยังคงใช้กรรมวิธีดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยการใช้ระยะเวลาหมักยาวนานเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดความลุ่มลึก สีน้ำตาลเข้ม และรสเค็มปนหวานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภูมิภาคนี้ (การหมักฮัตโจมิโสะใช้เวลา 2 ถึง 2.5 ปี ซึ่งรับประกันว่าคุ้มค่าสมการรอคอย…)

มิโสะ

มิโสะชนิดนี้มีรสชาติโดดเด่นที่แม้แต่ชาวบ้านท้องถิ่นยังนำไปผสมกับมิโสะชนิดอื่นเพื่อทำให้รสอ่อนลง (มิโสะผสมนี้เรียกว่า “อะวาเสะมิโสะ” และฉันเติบโตมาด้วยการรับประทาน “อะวาเสะมิโสะ” ที่บ้าน) อย่างไรก็ตาม การซื้อมิโสะสดเป็นของฝากกลับบ้านอาจจะดูท้าทายไปสักหน่อย ยกเว้นแต่ท่านจะเป็นคนที่ถนัดในการใช้มิโสะปรุงอาหาร ดังนั้น ฉันจะขอแนะนำสิ่งเหล่านี้แทน:

1.ฮัตโจมิโสะแบบผง
มีทั้งของร้านมารุยะและคะคุคิว มิโสะแบบผงที่แสนมหัศจรรย์นี้เหมาะกับอาหารทุกชนิด ทั้งสลัด สเต็ก เป็นส่วนผสมลับในสตู หรือจะรับประทานแบบง่ายๆ คู่กับชีสมาสคาโปนก็ได้ (เชื่อฉันสิ!) หนึ่งในความพิเศษของร้านคะคุคิวอยู่ที่เมนูซอฟต์ครีมวนิลาโรยด้วยฮัตโจมิโสะแบบผง ก่อนที่ฉันจะลองชิม ฉันก็สงสัยเหมือนท่านที่กำลังอ่านอยู่ว่ารสชาติของมันจะเป็นอย่างไร แต่ในความจริงแล้ว มันอร่อยมากจนฉันต้องซื้อผงมิโสะกระปุกเล็กจากร้านเพื่อเป็นของขวัญให้ตัวเองในทันที มิโสะแบบผงนี้ ง่ายต่อการใช้และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยพบเห็นจากที่อื่นเลย
2.คาราเมลมิโสะคะคุคิว
คาราเมลรสเค็มที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้... ไม่แปลกใจเลยว่ามิโสะและคาราเมลเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ความเค็มและรสชาติอันเข้มข้นของฮัตโจมิโสะถูกทำให้กลมกล่อมด้วยความหวานของคาราเมล และเมล็ดงาขาวที่ปั่นรวมกับคาราเมลก็ยิ่งเติมเต็มรสชาติพิเศษ ทำให้นี่เป็นขนมที่รับประทานได้อย่างเพลิดเพลิน... และอาจจะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเป็นของฝากที่น่าตื่นเต้นแก่เด็กๆ อีกด้วย?

โมริกุจิสุเกะ

โมริกุจิสุเกะ

ผักดองโมริกุจิได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในฐานะหัวไชเท้าดองที่ยาวที่สุดในโลกด้วยความยาวกว่า 2 เมตร! ผักดองในกากสาเก (ที่เหลือจากกระบวนการผลิตสาเก) ทำให้หัวไชเท้ามีรสชาติเข้มข้นได้ที่และเข้ากันเป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้าวสักชาม นอกจากนี้ หากท่านเป็นผู้ชื่นชอบการดื่มสาเกแล้วล่ะก็ ก็มีสาเกให้ท่านลองจิบเช่นเดียวกัน สำหรับตัวฉันแล้ว ฉันชอบทำออมเล็ตที่ใส่โมริกุจิสุเกะซอยข้างใน... อ-ร่-อ-ย!

ฉันต้องขอสารภาพว่าฉันไม่เคยซื้อโมริกุจิสุเกะแบบเต็มชิ้นเลยสักครั้ง อย่างไรก็ตาม ตรงกันข้ามกับรูปลักษณ์ภายนอกอันเป็นเอกลักษณ์และดูพิลึก (ฉันกล่าวด้วยความรักและเคารพอย่างสุดซึ้ง) โมริกุจิสุเกะนับเป็นของฝากราคาแพง ดังนั้น การมอบโมริกุจิสุเกะเป็นของฝากนั้นถือเป็นการแสดงออกที่น่านับถือเป็นอย่างมาก

สาเกของไอจิ

สาเกของไอจิ

ไอจิเป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการกลั่นสาเกรสเลิศ ทั้งน้ำที่ดี ดินที่ดีสำหรับปลูกข้าวคุณภาพดี และภูมิอากาศที่ดี ปัจจุบัน มีโรงกลั่นสาเกหรือ “คุระ” มากกว่า 40 แห่งกระจายทั่วจังหวัดไอจิ โดยสาเกคุณภาพดีสักขวดหลังเสร็จจากการเยี่ยมชมโรงกลั่นก็เป็นอีกหนึ่งของฝากที่ยอดเยี่ยมสำหรับนำติดมือกลับบ้าน

สาเกของไอจิ

สาเกบางยี่ห้อ เช่น “คะโมชิบิโตะ คุเฮจิ” ได้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก (จุมมาอิ ดาอิกิงโจของพวกเขา ได้ปรากฏอยู่บนเมนูของภัตตาคารที่ได้รับมิชลิน 3 ดาวบางแห่งในปารีส) ในขณะเดียวกัน สาเกยี่ห้ออื่นๆ เช่น “โฮระอิเซน” และ “คินโทระ” ก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านท้องถิ่นและเหล่าแฟนสาเกในประเทศ
โรงกลั่นสาเกท้องถิ่นยังมีสายสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของญี่ปุ่น ในฐานะแฟนพันธุ์แท้ของ “ฮานะมัตสึริ” เทศกาลท้องถิ่นในแถบโอคุมิคาวะ รสบางเบาอันสดชื่นของโฮระอิเซนทำให้ฉันย้อนนึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับการเต้นสวมหน้ากากอันทรงพลังของฮานะมัตสึริ

สาเกของไอจิ

ในขณะที่ “โทบะโนะฮิมัตสึริ” (เทศกาลไฟโทบะ) ที่โด่งดังแห่งเมืองนิชิโอะก็เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ยอดเยี่ยมคู่กับสาเกท้องถิ่นยี่ห้อโซโนะ กลิ่นหอมจากผลไม้และรสเข้มข้นของสาเกสร้างความประทับใจและทำให้ฉันไม่เคยลืมที่จะซื้อมันกลับบ้านทุกครั้งที่ฉันเข้าร่วมเทศกาล (ฉันพร้อมอุทิศทั้งคอลัมน์เพื่อกล่าวถึงเสน่ห์ของเทศกาลต่างๆ ในจังหวัดไอจิ โปรดติดตามต่อไปในอนาคต...) ถ้าท่านเป็นแฟนของเทศกาลท้องถิ่นแล้วล่ะก็ ไอจิก็เป็นจุดหมายที่ลงตัวที่สุดสำหรับท่าน และเป็นที่ที่ท่านจะหาโรงกลั่นสาเกดีๆ ใกล้กับเทศกาลอันยอดเยี่ยมได้ไม่ยาก!

มัทฉะ

มัทฉะ

เมืองนิชิโอะในจังหวัดไอจิเป็นหนึ่งในบริเวณที่ผลิตเทนฉะ (ใบชาสำหรับมัทฉะ) ที่มีคุณภาพดีที่สุด ทำให้ได้มัทฉะคุณภาพสูงที่มีลักษณะเฉพาะตัวด้วยสีเขียวเข้ม กลิ่นหอมหวน และรสชาติอ่อนโยน เมืองนิชิโอะมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมชา ไม่เฉพาะในหมู่ขุนศึกในยุคฟิวดัลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในหมู่พ่อค้าวานิชและช่างฝีมือแถบภูมิภาคนี้ด้วย และปัจจุบัน บางครั้งเมืองนิชิโอะก็ได้รับการขนานนามว่า “ลิตเติ้ล เกียวโต” โดยมีมัทฉะกระป๋องเล็กๆ เป็นของที่ระลึกที่เหมาะที่สุดสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของท่าน

มัทฉะ

ตามประเพณีดั้งเดิม “ซาโดะ” (茶道) หรือวิถีแห่งพิธีชงชาแบบญี่ปุ่นประกอบไปด้วยด้วยกฎระเบียบและขั้นตอนอันเข้มงวดที่ต้องปฏิบัติตาม (ซึ่งการนั่งแบบเซสะเป็นเวลานานๆ ยังคงเป็นปัญหาของฉัน...นั่งทีไรเป็นเหน็บชาทันที) อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะเพลิดเพลินไปกับมัทฉะแบบสบายๆ โดยเพียงแค่ตักมัทฉะให้เต็มช้อนเล็กๆ ใส่ลงในถ้วยชา เติมน้ำร้อน และตีด้วยที่ตีชาเฉพาะ เท่านี้ก็สร้างความพิเศษในรสชาติหวานขมและรสสัมผัสแบบครีมของมัทฉะในช่วงพักเบรคของท่านแทนที่การดื่มชาแบบเดิมๆ

มัทฉะ

ถ้าเพียงแค่การดื่มชายังไม่พอแล้วล่ะก็ ยังมีผลิตภัณฑ์จากมัทฉะอีกมากมายตามร้านขายของที่ระลึกที่ตั้งอยู่ทั้งในเมืองนิชิโอะและนาโกย่า โดยจากร้านต่างๆ ที่ท่านสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากมัทฉะนี้ ตัวอย่างขนมบางชนิดที่ฉันชอบ เช่น มัทฉะบามคูเฮนและคุกกี้แซนด์วิชเนยรสมัทฉะของร้านซาอิโจเอ็นไอยะ มัทฉะนั้นเข้ากันได้ดีกับรสสัมผัสและความหวานของขนมแบบตะวันตก และโดยส่วนตัวแล้ว ฉันก็ชอบรับประทานขนมเหล่านี้กับกาแฟด้วยเช่นกัน

เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ

เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ

อย่างที่กล่าวมาในข้างต้นว่าไอจิมีวัฒนธรรมชาอย่างยาวนานและเข้มข้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าวัฒนธรรมดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากการที่เมืองโทโคนาเมะและเมืองเซโตะในจังหวัดไอจิเป็นสองใน “เตาเผาอันเก่าแก่ทั้งหก” ของประเทศญี่ปุ่นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี โดยทั้งสองสถานที่นี้ยังคงเป็นผู้นำในด้านการผลิตเซรามิก ดังนั้น การเดินทางไปเยี่ยมเมืองแห่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีเสน่ห์เหล่านี้เพื่อค้นหาศาสตร์แห่งงานหัตถศิลป์แบบดั้งเดิม (และแบบร่วมสมัย) ก็นับเป็นความสนุกอย่างยิ่ง

เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ

ครั้งหนึ่ง เพื่อนของฉันจากเมืองเซโตะกล่าวติดตลกว่า “พวกเราแทบไม่ได้ซื้อถ้วยหรือจานชามให้ตัวเองเลย... เพราะทุกครั้ง จะมีเพื่อนของใครคนหนึ่ง ไม่ก็คุณลุงของใครสักคนที่เป็นช่างปั้นหม้อ และเราก็ได้พวกถ้วยชามมาแบบฟรีๆ...” ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่นี่แสดงให้เห็นว่าเครื่องปั้นดินเผาเป็นอุตสาหกรรมอันยิ่งใหญ่ในภูมิภาคนี้

เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ

หากท่านเป็นแฟนพันธุ์แท้เครื่องถ้วยชามหรือชุดชาแบบตะวันตกหรือชื่นชอบไลฟ์สไตล์แบบซีรีส์ดาวน์ตัน แอบบีย์ เหมือนอย่างฉัน ท่านอาจจะสนใจถ้วยแก้วและจานรองสวยๆ ของโนริทาเกะเป็นพิเศษ จากการก่อตั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โนริทาเกะได้กลายเป็นหนึ่งในชื่อที่ทรงคุณค่าที่สุดในโลกอุตสาหกรรมเซรามิก และฉันยังคงภูมิใจกับชุดสะสมส่วนตัวที่บ้านของฉัน... ทั้งชุดสะสมเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารโนริทาเกะแสนงดงามที่ตกทอดมาจากคุณพ่อคุณแม่ และชุดถ้วยกาแฟและจานรอง “เลซวู้ดโกลด์” สีน้ำเงินขึ้นชื่อที่เป็นของขวัญวันแต่งงาน

ส่วนในไลฟ์สไตล์ช็อป “โนริทาเกะ สแควร์ นาโกย่า” ที่ตั้งอยู่ในโนริทาเกะการ์เด้นก็มีชุดสะสมถ้วยชามที่น่าตื่นตาตื่นใจให้เลือกสรร ตั้งแต่ชุดถ้วยชาแบบเรียบง่ายไปจนถึงชุดตกแต่งโต๊ะอาหารที่หรูหรา ฉันคิดว่าที่นี่เป็นสวรรค์ของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเลยทีเดียว...อย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับช่วงเวลาดีๆ ในไลฟ์สไตล์ช็อป!

ชิปโป-ยากิ

ชิปโป-ยากิ

งานเคลือบกลัวซอเน (Cloisonné) หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “ชิปโป-ยากิ” ในประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในงานหัตถศิลป์เฉพาะของจังหวัดไอจิที่งดงามที่สุด ด้วยเทคนิคในการผลิตที่โดดเด่นไม่เหมือนใครแห่ง “โอวาริ-ชิปโป” ที่สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ทำให้เมืองอามะและบางส่วนของนาโกย่ากลายเป็นศูนย์กลางการผลิตนับแต่นั้นเป็นต้นมา เข้าชมหมู่บ้านศิลปะชิปโปในเมืองอามะและเรียนรู้เทคนิคผ่านการเวิร์คช็อปที่ท่านสามารถลองทำเข็มกลัด พวงกุญแจ หรือจี้ในแบบของตัวเองสำหรับเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน

ชิปโป-ยากิ

หากมองผ่านๆ ครั้งแรก ชิปโป-ยากิดูเหมือนเครื่องเคลือบที่ลงสีด้วยมืออย่างงดงาม (และฉันเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่ามันเป็นเครื่องเคลือบจริงๆ) แต่มันน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อได้ค้นพบจากการทำเวิร์คช็อปว่า ความจริงแล้ว ชิปโป-ยากิคือเครื่องโลหะเคลือบโดยชั้นเคลือบที่ถูกเผาในเตาเผา และชั้นเคลือบนั้นมีสีสันสดใสและแวววาว ท่านสามารถมองหาของที่ระลึกดีๆ สำหรับคนพิเศษหรือแม้กระทั่งตัวท่านเอง… ที่นี่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตั้งแต่แจกันดอกไม้และกรอบรูปไปจนถึงเครื่องประดับต่างๆ

อะริมัตสึ นารุมิ ชิโบริ

อะริมัตสึ นารุมิ ชิโบริ

อะริมัตสึ ชิโบริเป็นงานหัตถศิลป์ดั้งเดิมเฉพาะที่นาโกย่าที่มีความเป็นมาราว 400 ปี เทคนิคการมัดย้อมที่มีเอกลักษณ์นี้มีหลากหลายรูปแบบ และผ้าที่ถูกย้อม (เดิมคือการย้อมด้วยสีคราม แต่ปัจจุบันมีหลากหลายสี) ได้ถูกนำมาทำเป็นกิโมโน ยูคาตะ และสิ่งของอื่นๆ แม้ว่าอะริมัตสึ ชิโบริจะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุดที่นาโกย่ามีอยู่ แต่ก็มีศิลปิน ดีไซน์เนอร์ และผู้ผลิตรุ่นใหม่มากมายที่นำเทคนิคต่างๆ มาผลิตผลงานแบบใหม่ทั้งหมด

อะริมัตสึ นารุมิ ชิโบริ

หนึ่งในตัวอย่างนี้คือ “คุคุริ” แบรนด์แฟชั่นที่มาพร้อมกับผลงานที่ประยุกต์อะริมัตสึ ชิโบริเป็นเสื้อผ้าสมัยใหม่สำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แบรนด์สร้างความประทับใจอย่างยิ่งโดยการมุ่งเป้าไปที่ “การเปลี่ยนรูปโฉมชิโบริ” แทนที่จะเป็น “การย้อมสีชิโบริ” ส่วนอีกหนึ่งแบรนด์ที่ฉันชื่นชอบคือ "มาริโมเน็น" แบรนด์อะริมัตสึ ชิโบริสไตล์ลำลองที่ก่อตั้งโดยเด็กสาวสองคน ซึ่งเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าเช็ดตัวเทนุกุอิและถุงเท้าทาบิ

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมดั้งเดิมอื่นๆ อะริมัตสึ ชิโบริประสบปัญหาการขาดแคลนผู้สืบทอด แต่ช่างศิลป์รุ่นใหม่ต่างต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อเพื่ออนาคตที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ชิ้นงานของช่างสมัยใหม่และแบรนด์ต่างๆ สามารถหาซื้อได้ที่อะริมัตสึหรือตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ บางแห่งในนาโกย่า

  • อะริมัตสึ นารุมิ ชิโบริ
  • อะริมัตสึ นารุมิ ชิโบริ
  • อะริมัตสึ นารุมิ ชิโบริ

นาโกย่าเซนซุ (พัดพับ)

นาโกย่าเซนซุ (พัดพับ)

ประวัติความเป็นมาของนาโกย่าเซนซุเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ในขณะที่เกียวโตเซนซุมักถูกใช้โดยผู้หญิงในกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น งานเต้นรำตามประเพณีและพิธีชงชา แต่นาโกย่าเซนซุมักถูกใช้สำหรับงานที่เป็นทางการมากกว่าและถูกมองว่าเป็นพัดสำหรับผู้ชาย ครั้งหนึ่ง ฉันเคยมีโอกาสเข้าร่วมเวิร์คช็อปการทำเซนซุที่จัดขึ้นที่ซุเอะฮิโรโดะ หนึ่งในผู้ผลิตเซนซุที่เก่าแก่ที่สุดในนาโกย่า วิธีการทำเซนซุนั้นดูเหมือนค่อนข้างง่าย โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวาดลวดลายอย่างอิสระลงบนพัดกระดาษและติดลวดลายนั้นลงบนโครงไม้ไผ่

ฉันช่างโง่อะไรเช่นนั้นที่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องง่ายๆ! เพราะทุกขั้นตอนของการผลิตเซนซุต่างต้องใช้เทคนิคพิเศษทั้งสิ้น ทำให้นาโกย่าเซนซุเป็นสิ่งที่รวมศาสตร์ทางหัตถศิลป์เข้าด้วยกันอย่างแท้จริง หากท่านมีโอกาส โปรดลองเข้าร่วมเวิร์คช็อปการทำเซนซุและค้นหาเซนซุที่ถูกลงสีด้วยความช่ำชองอย่างวิจิตรในร้านค้าหรือตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ

Irene Dewald

ผู้เขียน
ไอรีน เดวาลด์

ไอรีนเป็นดีเจวิทยุ พรีเซ็นเตอร์ทางโทรทัศน์ ผู้บรรยาย และพิธีกร จากจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น เธอจบการศึกษาปริญญาตรีด้านศิลปการละคร จากรอยัลฮอลโลเวย์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ในปี 2005 ตลอดเวลาที่ศึกษาในต่างประเทศ เธอได้ค้นพบว่าตัวเองหลงใหลในเทศกาลและศิลปะการแสดงของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ทำให้ในท้ายที่สุด เธอกลับมายังไอจิและอุทิศตนเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี และเสน่ห์ที่ถูกซ่อนไว้

* คอลัมน์นี้ถูกแปลจากเนื้อหาภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย